ข้อมูลท้องถิ่น

ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดกระบี่



                                                                                     เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ วก.อ่าวลึก

        กระบี่ เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่าบริเวณเมืองกระบี่เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าดินแดนนี้แต่เดิมคือ เมืองบันไทยสมอ ๑ ใน ๑๒ เมืองนักษัตร ที่ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมือง ขึ้นกับอาณาจักรนครศรีธรรมราช

          จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดขนาดเล็กที่มากด้วยทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ การผสมผสานการดำรงชีวิตของผู้คนที่ต่างเชื้อชาติต่างศาสนา และความเชื่อที่แตกต่างอย่างกลมกลืน ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ติดกับทะเลอันดามัน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงแผ่นดินประมาณ ๘๑๔ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด ๔,๗๐๘.๕๑๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒,๙๔๒,๘๒๐ ไร่ 

อาณาเขตของจังหวัดกระบี่

·          ทิศเหนือ จดจังหวัดพังงา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

·          ทิศใต้ จดจังหวัดตรัง และทะเลอันดามัน

·          ทิศตะวันออก จดจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดตรัง

·          ทิศตะวันตก จดจังหวัดพังงา และทะเลอันดามัน

ลักษณะภูมิประเทศ

            สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดกระบี่ทางตอนเหนือประกอบด้วย เทือกเขายาวทอดตัวไปในแนวเหนือใต้สลับกับสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด และลอนชัน มีที่ราบชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตก บริเวณทางตอนใต้มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขากระจัดกระจายสลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่น ส่วนบริเวณทางตอนใต้สุด และตะวันตกเฉียงใต้มีสภาพพื้นที่เป็นแบบลูกคลื่นลอนลาดจนถึงค่อนข้างราบเรียบ และมีภูเขาสูง ต่ำ สลับกันไป บริเวณด้านตะวันตกมีลักษณะเป็นชายฝั่งติดกับทะเลอันดามัน ยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตรประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ จำนวน ๑๕๔ เกาะ แต่เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง ๑๓ เกาะ เกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะลันตา เป็นที่ตั้งของอำเภอเกาะลันตา และเกาะพีพีซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับของโลก

ลักษณะภูมิอากาศ

            จังหวัดกระบี่ มีภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อน และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกชุกตลอดปีและมีเพียง ๒ ฤดู คือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งเดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม

โครงสร้างพื้นฐาน

          1. แหล่งน้ำ/ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดกระบี่ส่วนใหญ่เป็น สระ/หนอง/บึง รวมทั้งหมด ๑๔๗ แห่งโดยมีปริมาณน้ำที่เก็บได้ ๒๔.๕๗ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบว่าอำเภอที่มีปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้เพื่อใช้อุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตรน้อยที่สุดคืออำเภอเกาะลันตา อ่าวลึก เหนือคลอง ลำทับ และอำเภอเมือง  ตามลำดับ

          2. การประปา  การประปาส่วนภูมิภาค มี 3 สาขา คือ การประปาส่วนภูมิภาค สาขากระบี่ มีเขตรับผิดชอบอำเภอเมือง อำเภอเหนือคลอง อำเภอเขาพนม การประปาส่วนภูมิภาคสาขาอ่าวลึก มีเขตรับผิดชอบ อำเภออ่าวลึก อำเภอปลายพระยา การประปาส่วนภูมิภาคสาขาคลองท่อม มีเขตรับผิดชอบ   อำเภอคลองท่อม อำเภอลำทับ ส่วนการบริการน้ำประปาที่เข้าไปไม่ถึง   จะรับบริการประปาชุมชน     ซึ่งบริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   เช่น   ประปาหมู่บ้าน ฯลฯ    ข้อมูลการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำประปา   ในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาคมีผู้ใช้น้ำทั้งสิ้น 28,248 ราย มีกำลังผลิตรวม 34,800 ลบ.ม./วัน น้ำที่ผลิตได้ 9,955,621 ลบ.ม.

         3. การไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้าของภาคประชาชน  และภาคธุรกิจต่างๆ ในจังหวัดกระบี่ ปี   พ.ศ.2555  มีจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด 129,๕๙7 ราย ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นภาคสถานธุรกิจและอุตสาหกรรมรองลงมา คือที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการและสาธารณะ และอื่นๆ ตามลำดับ ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในจังหวัดรวม 645,090,973.81 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง สามารถให้บริการไฟฟ้าครอบคลุมทั้ง ๘ อำเภอ

         4. การคมนาคมขนส่ง จังหวัดกระบี่มีเส้นทางคมนาคม ๓ ทาง ได้แก่ ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ โดยมีเส้นทางดังนี้

          4.1 การคมนาคมทางบก

          - ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๔ ผ่านจังหวัดเพชรบุรี – ชุมพร - ระนอง - พังงา - กระบี่ รวมระยะทางประมาร ๙๔๖ กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ถึงจังหวัดชุมพร  ต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑ ผ่านอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เข้าอำเภอไชยา อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้น   ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๓๕   ผ่านอำเภออ่าวลึก    และใช้ทางหลวงหมายเลข ๔ อีกครั้ง เข้าสู่จังหวัดกระบี่     รวมระยะทาง ๘๑๔ กิโลเมตร    ถ้าเดินทางจากภูเก็ต   ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๒ ต่อด้วยทางหลวงแผ่นดิน   หมายเลข ๔ ผ่านตำบล โคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เข้าอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ รวมระยะทางประมาณ ๑๘๕ กิโลเมตร

          4.2 การคมนาคมทางน้ำ จังหวัดกระบี่มีท่าเรือขนส่งสินค้า/ท่าเทียบเรือการท่องเที่ยว รวมจำนวน 22 แห่ง ท่าเรือน้ำลึก 4 แห่ง

            4.3 การคมนาคมทางอากาศ   จังหวัดกระบี่มีสนามบินนานาชาติ   ๑   แห่ง คือ ท่าอากาศยาน

นานาชาติจังหวัดกระบี่   สังกัดกรมการขนส่งทางอากาศ ตั้งอยู่ในเขต อำเภอเหนือคลอง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๓ กิโลเมตร

โครงสร้างด้านเศรษฐกิจ

          1. การท่องเที่ยว

          จังหวัดกระบี่  ได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยว  มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘   มีแหล่งท่องเที่ยวถึง ๕๒ แห่ง   โดยแบ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ๔๘ แห่ง  แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์/โบราณสถาน ๒ แห่ง  แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม/หัตถกรรม  ๒  แห่ง  แหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ๒ แห่ง แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  ๑  แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวชมวีถีชีวิตชุมชน  ๓  แห่ง   จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดกระบี่     ปี 2554 จำนวน  2,665,530 คน   (ชาวไทย 1,324,679 คน ชาวต่างชาติ  1,340,851)  รายได้จากการท่องเที่ยว 37,646.09 ล้านบาท

          2. การเกษตร

          จังหวัดกระบี่  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  2,942,820  ไร่   เป็นพื้นที่การเกษตร 2,001,908 ไร่  หรือ   ร้อยละ 85.03 พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ  คือ ปาล์มน้ำมัน มีพื้นที่ปลูก 947,569 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.93  และยางพารา มีพื้นที่ปลูก 917,045 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 45.81 ของพื้นที่ทำการเกษตร

          3. การประมง

          จังหวัดกระบี่มีแนวชายฝั่งยาว 160 กม. มีการประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้าน การเลี้ยงกุ้งทะเล การทำฟาร์มปลาน้ำกร่อย และการทำฟาร์มอื่นๆ

          4. การอุตสาหกรรม

                    4.1 ผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดกระบี่ได้พัฒนาสินค้าและการบริการของชุมชน โดยมีกลุ่มอาชีพลงทะเบียนในปี 2555 ทั้งสิ้น 233 ราย จำนวน 488 ผลิตภัณฑ์ ได้รับคัดสรรเป็นสินค้าระดับ 5 ดาว จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ประเภทอาหาร 10 ผลิตภัณฑ์ ผ้าเครื่องแต่งกาย 1 ผลิตภัณฑ์

                    4.2 โรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดกระบี่มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 451 โรงงาน ประกอบด้วย โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม จำนวน 21 โรง โรงงานอุตสาหกรรมยางแผ่นรมควัน จำนวน 28 โรง โรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำนวน 4 โรง โรงงานผลิตยางแท่ง STR  จำนวน 1 โรง โรงงานไม้ยางแปรรูป อัดน้ำยาและอบแห้งไม้ จำนวน 16 โรง ฯลฯ

                    4.3 การทำเหมืองแร่ จังหวัดกระบี่ มีเหมืองแร่ทั้งหมด 7 เหมือง  คือ  หินอุตสาหกรรม 4 เหมือง หินลิกไนต์ 1 เหมือง แร่โดโลไมต์ 1 เหมือง และดินอุตสาหกรรม 1 เหมือง (ดินซีเมนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

 

สภาพชุมชนเศรษฐกิจ สังคม วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก

          วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึกอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ  30  กิโลเมตร  เส้นทางหลวงหมายเลข4 (ถนนเพชรเกษมไปยังจังหวัดพังงา ภูเก็ตและตรัง เป็นเส้นทางสายหลักที่สำคัญที่สุดชุมชนบริเวณใกล้เคียงวิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึกบริเวณด้านหน้าของวิทยาลัยมีร้านค้าปลีกขนาดเล็กไว้บริการ นักเรียนนักศึกษาและบุคคลทั่วไปมีหอพักในชุมชนไว้สำหรับบริการนักเรียน-นักศึกษาที่อยู่ไกล โดยวิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึกได้รับความร่วมมือจากเจ้าของหอพักในการช่วยเหลือควบคุมดูแลความประพฤติของนักเรียนนักศึกษาเป็นอย่างดี  ประกอบด้วย

1.  ประชาชนและชุมชนรอบๆวิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึกส่วนมากประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและปลูกปาล์มน้ำมัน

2.   ระดับการศึกษาของผู้ปกครองส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษา

3.   อาชีพของผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้างและเกษตรทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน ประมง และค้าขายรายได้ของครอบครัวอยู่ในระดับ ปานกลาง เฉลี่ยประมาณเดือนละ 5,000 – 8,000 บาท

4.   ค่าใช้จ่ายของนักเรียน นักศึกษา 60-100 บาท/วัน/คน

5.   มีการคมนาคม การขนส่งรถประจำทางสะดวก

6.   มีความเจริญทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งสะดวก


ที่ตั้งและอาณาเขต :
            อำเภออ่าวลึก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ   ติดต่อกับ อำเภอทับปุด (จังหวัดพังงา) และ อำเภอปลายพระยา
ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ อำเภอปลายพระยา และ อำเภอเขาพนม
ทิศใต้    ติดต่อกับ อำเภอเมืองกระบี่ และ อำเภอเกาะยาว (จังหวัดพังงา) ทางอ่าวพังงา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมืองพังงา (จังหวัดพังงา) ทางอ่าวพังงา และ อำเภอทับปุด
พื้นที่ : 773.0 ตารางกิโลเมตร
ความหนาแน่น : 72.01 คน / ตารางกิโลเมตร
ที่ตั้ง : ที่ว่าการอำเภออ่าวลึก หมู่ที่ 2 ถนนควนขนมจีน-มะรุ่ย ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ 81110 โทรศัพท์ : 075-681359, 075-68 1361 โทรสาร : 075-681361

แหล่งข้อมูล : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แหล่งข้อมูล : จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่
แหล่งข้อมูล : จากศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและพัฒนางานปกครอง กระทรวงมหาดไทย
แหล่งข้อมูล : http://www.oknation.net/  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น